เปิดรับสมัคร Resident & Fellowship
เปิดรับสมัคร Resident และ Fellowship in Neurology 2568
ผู้ป่วยควรทราบข้อมูลทั้งหลักการรับประทานยากันชัก ผลข้างเคียงจากยากันชักที่รับประทาน ปัจจัยกระตุ้นชักที่ควรหลีกเลี่ยง กิจกรรมที่มีความเสี่ยง การดูแลและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการชัก
1. การรับประทานยากันชักที่ถูกต้อง
1.1) ต้องรับประทานยาสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
1.2) ไม่ควรรับประทานยากันชักพร้อมกับอาหารหรือนม เนื่องจากอาหารหรือนมอาจรบกวนการดูดซึมยา ทำให้ได้ระดับยาที่ต่ำกว่าปกติ
1.3) กรณีที่ลืมรับประทานยามื้อหนึ่ง ให้ทำการรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ และรับประทานมื้อต่อไปตามเวลาเดิม แต่ถ้าลืมแล้วผู้ป่วยนึกขึ้นได้เมื่อถึงมื้อยามื้อต่อไปให้รับประทานยาของมื้อต่อไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดของยา
1.4) ถ้าผู้ป่วยอาเจียนหลังรับประทานยาประมาณไม่เกินครึ่งชั่วโมง ให้รับประทานยาซ้ำในขนาดเดิม แต่ถ้าอาเจียนหลังรับประทานยานานกว่าครึ่งชั่วโมง ไม่ต้องรับประทานยาซ้ำ
1.5) ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินผลการรักษา รวมถึงค้นหาการเกิดผลข้างเคียงจากยากันชัก ไม่ควรหยุดยากันชักเอง ยกเว้นเมื่อสงสัยจะแพ้ยารุนแรง ซึ่งควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดที่เป็นไปได้ แพทย์จะทำการปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดยาให้ตามความเหมาะสม
1.6) ผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีอาการชักเลยเป็นเวลาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2-5 ปี (แล้วแต่ชนิดของลมชัก) แพทย์อาจพิจารณาลดขนาดยาลง จนกระทั่งหยุดยาทั้งหมด แต่ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาด้วยตัวเอง เพราะอาจเกิดอันตรายรุนแรงโดยเฉพาะอาการชักซ้ำจากการถอนยาอย่างรวดเร็ว (withdrawal seizures) ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะชักต่อเนื่อง (status epilepticus) ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20
2. ผลข้างเคียงจากยากันชักที่พบบ่อย และข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการดังกล่าว
2.1) อาการง่วงซึม เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด และสามารถเกิดได้จากการรับประทานยากันชักเกือบทุกตัว โดยทั่วไปมักเกิดในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นผู้ป่วยมักเคยชินหรือทนต่อยาได้มากขึ้นจนกระทั่งไม่มีอาการอีก แต่ถ้าไม่ดีขึ้นเลยควรแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนยา
2.2) ระบบผิวหนังและเยื่อบุผิดปกติเช่นผิวหยาบขนขึ้นมากกว่าปกติผมร่วงเหงือกบวมเป็นต้น
2.3) น้ำหนักเปลี่ยนแปลง ขึ้นกับชนิดและขนาดของของยา โดยมีทั้งน้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้น บางรายมีอาการเบื่ออาหารหรือมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยา
2.4) อาการแพ้ยาชนิดรุนแรง มักเกิดภายใน 1-2 สัปดาห์หลังเริ่มรับประทานยา แต่อาจเกิดได้แม้กระทั่งรับประทานยาไปนานแล้ว อาการที่พบได้แก่ ผื่นขึ้นตามตัว หรืออาจเป็นตุ่มน้ำหรือผิวหนังลอก แผลในปาก ตาแดง หรือมีไข้ ถ้ามีอาการดังกล่าวควรหยุดยาทันที และรีบพบแพทย์
3. ปัจจัยที่กระตุ้นอาการชักที่ควรหลีกเลี่ยง
โดยทั่วไปจะแนะนำให้ผู้ป่วยมีกิจวัตรตามปกติเหมือนคนทั่วไป แต่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดอาการชัก ดังต่อไปนี้
3.1) การอดนอน
3.2) ความเครียด
3.3) การทำงาน หรือการออกกำลังกายที่หนักเกินปกติ
3.4) การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
3.5) ยาที่ฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทรวมถึงยาเสพติด
3.6) แสงกระพริบหรือแสงที่มีสีสดและเจิดจ้า เช่น การเล่นวีดีโอเกมส์บางชนิด ภาพจากโทรทัศน์ จากสถานบันเทิง
4. กิจกรรมที่มีความเสี่ยง
ควรพยายามหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ปีนต้นไม้ ว่ายน้ำ ขับรถ เป็นต้น จนกว่าจะแน่ใจว่าอาการชักนั้นสามารถควบคุมได้ดี เนื่องจากเมื่อเกิดอาการชัก ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมตนเองในระหว่างทำกิจกรรมนั้นๆ ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง และบุคคลที่อยู่รอบข้างเช่นการเกิดอุบัติเหตุเมื่อขับขี่ยานยนต์ เป็นต้น
การประกอบอาหารที่ผู้ป่วยต้องยืนหน้าเตาไฟหรือหม้อน้ำเดือด ถ้าผู้ป่วยหมดสติฉับพลันจากการชัก ไฟอาจไหม้หรือน้ำร้อนอาจลวกผิวหนังใบหน้า แขนและลำตัวได้
ผู้ป่วยที่ชอบอาจน้ำอุ่นและก๊อกน้ำในห้องน้ำมี 2 หัว (ร้อน-เย็น) ในอ่างอาบน้ำขณะผสมน้ำอาบควรเปิดก๊อกน้ำเย็นก่อนที่จะเปิดก๊อกน้ำร้อน เนื่องจากถ้าบังเอิญผู้ป่วยเกิดการชักขณะอาบน้ำ จะได้ไม่ถูกน้ำร้อนลวก
สำหรับการขับขี่ยานยนต์ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการชักเลย (seizure free) เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนจึงจะสามารถกลับมาขับขี่ได้อีกครั้งอย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์นี้คงขึ้นกับกฎหมายของแต่ละประเทศ ประเภทของโรคลมชักและการรักษาของผู้ป่วยในแต่ละรายซึ่งทำให้การพิจารณาอนุญาตการขับขี่มีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายและในแต่ละประเทศ
5. การดูแลปฐมพยาบาลผู้ป่วยขณะชัก
ผู้ดูแลควรรีบประคองผู้ป่วยให้นอนบนเตียงหรือที่พื้นเฝ้าระวังไม่ให้พลัดตกจากที่สูงหรือศีรษะกระแทกพื้นให้เอียงหน้าของผู้ป่วยไปทางด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้น้ำลายไหลออกจากปากสู่ลงพื้นมิฉะนั้นผู้ป่วยอาจสูดสำลักน้ำลายลงหลอดลมหรือปอดไม่ควรใช้นิ้วมือช้อนหรือของแข็งใดๆใส่เข้าไปในปากผู้ป่วยซึ่งเดิมเชื่อว่าจะป้องกันการกัดลิ้นแต่ในปัจจุบันการกระทำดังกล่าวนอกจากไม่พบว่ามีประโยชน์แล้วยังอาจก่อให้เกิดฟันหักหรือเพิ่มโอกาสเกิดการสูดสำลักลงปอดสูงควรดูแลจนกระทั่งผู้ป่วยหยุดชักซึ่งมักจะเกิดไม่นานโดยทั่วไปจะไม่เกิน 2 นาทีในรายที่ชักนานกว่า 3-5 นาทีหรือผู้ป่วยมีการหายใจผิดปกติร่วมด้วยควรรีบตามรถพยาบาลเพื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างรีบด่วนและนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุดเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เกณฑ์การนำผู้ป่วยโรคลมชักไปให้ฉุกเฉิน โดยตามรถพยาบาล รีบนำส่งเอง หรือตาม 1669
แผนกประสาทวิทยาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า